พระปรางค์สามยอด ตั้งอยู่บนเนินดินด้านทิศตะวันตกของทางรถไฟใกล้กับศาลพระกาฬ ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี
มีลักษณะเป็นปรางค์เรียงต่อกัน 3 องค์ มีฉนวนทางเดินเชื่อมติดต่อกัน พระปรางค์- สามยอดเป็นศิลปะเขมรแบบบายน ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 สร้างด้วยศิลาแลงหินทรายและตกแต่งลวดลายปูนปั้นที่สวยงาม ตรงซุ้มประตูเดิมคงมีทับหลัง แต่ที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน คือ เสาประดับกรอบประตู แกะ สลักเป็นรูปฤาษีนั่งชันเข่าในซุ้มเรือนแก้ว ซึ่งเป็นแบบเฉพาะของเสาประดับกรอบประตูศิลปะเขมร แบบบายนปรางค์องค์กลางมีฐาน แต่เดิมเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและมีเพดานไม้เขียนลวดลายเป็น ดอกจันทน์สีแดง ด้านหน้าทางทิศตะวันออก มีวิหารสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ปางสมาธิที่สมบูรณ์ดี เป็นศิลปะแบบสมัยอยุธยาตอนต้น อายุราวพุทธศตวรรษ ที่ 20
พระปรางค์สามยอดนี้ มีผู้สันนิษฐานว่า คงสร้างขึ้นในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ปรางค์องค์กลาง ประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรก องค์ขวาประดิษฐานรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร องค์ซ้ายประดิษฐาน รูปนางปรัชญาปารมิตาหรือนางปัญญาบารมี
ที่มา : http://www.lopburitravel.com/upload/photo/web/Hm58iSrb.jpg
สันนิษฐานว่าปราสาทเขมรโบราณแห่งนี้สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอม ราวปี พ.ศ. 1700-1,800 เพื่อเป็นศูนย์กลางศาสนาพุทธนิกายวัชรยานในเมืองละโว้ ก่อนผ่านการบูรณะต่อเติมส่วนที่เป็นวิหารสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา และดัดแปลงเป็นพุทธสถานนิกายเถรวาทแบบบ้านเรา โบราณวัตถุต่างๆ ที่พบภายในพระปรางค์ได้รับการเก็บรักษาภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินารายณ์ราชนิเวศน์
พระปรางค์สามยอดมีรูปแบบสถาปัตยกรรมของปราสาทศิลาแลงเขมรที่เรียงต่อกัน 3 องค์ เชื่อมต่อกันด้วยมุขกระสัน โดยวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ หันหน้าสู่ทิศตะวันออก ช่างได้ใช้ศิลาแลงฉาบปูนในการก่อสร้างประดับส่วนต่างๆ ด้วยปูนปั้นที่สำคัญคือสร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธสถานในลัทธิวัชรยานประจำเมืองละโว้หรือลพบุรี ด้านทิศตะวันออกของปราสาทประธานมีการต่อเติมวิหารก่ออิฐถือปูนเชื่อมต่อกับปราสาทประธานเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรก ปราสาททิศใต้ประดิษฐานรูปพระโลเกศวร (พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร) สี่กรและปราสาททิศเหนือประดิษฐานรูปพระนางปรัชญาปารมิตาสองกรจนถึงปัจจุบัน
ความงดงามที่กล่าวไปนั้นเหลือไว้เพียงหลักฐานที่พบในกระดาษทางประวัติศาสตร์เพราะปัจจุบันนักท่องเที่ยวคงเห็นแค่เพียงวิหารที่เหลือ เพียงผนัง 2 ข้าง และผนังหุ้มกลองทางด้านทิศตะวันออก ส่วนเครื่องบนพังทลายไปหมดแล้ว คงเห็นแต่ซุ้มหน้าต่างด้านทิศเหนือแต่ถึงอย่างไรที่นี่ก็ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดลพบุรี
ลวดลายประดับ
ส่วนยอดหรือศิขระ สร้างด้วยหินทรายเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงายซ้อนกัน 3 ชั้น ถัดลงมาเป็นการยกเก็จสามเก็จตรงด้านและมุมประดับด้วยกลีบขนุนทำจากศิลาแลง และบางส่วนทำจากปูนปั้นเป็นรูปบุคคลยืนอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว ส่วนที่ยกเก็จชั้นที่ 4 เดิมทั้ง 4 ทิศ จะมีการปั้นเทพประจำทิศอยู่ในกลีบขนุนและตอนล่าง ได้แก่ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณประจำทิศตะวันออก พระวรุณทรงหงส์ ประจำทิศตะวันตก ท้าวกุเวรทรงมกร ทิศเหนือ และ พระยมทรงกระบือ ทิศใต้ ปัจจุบันเหลือเพียงบางส่วน สันหลังคาของมุขกระสันประดับด้วยบราลีศิลาแลงปั้นเป็นพระพุทธรูปประทับสมาธิราบ ปางสมาธิ ในซุ้มเรือนแก้ว ปัจจุบันเสียหายทั้งหมด
- บัวรัดเกล้าเรือนธาตุ
มีการประดับลวดลายปูนปั้นประกอบไปด้วย แถวบนสุดเป็นลายดอกไม้กลม ถัดลงมาปั้นปูนเป็นรูปกลีบบัวหงาย แถวถัดลงมาเป็นลายดอกซีกดอกซ้อน รูปหงส์ ลายกลีบบัวหงาย ลายก้านขด และดอกบัวตูม เรียงเป็นแถว ลวดลายละ 1 แถวรวมเป็น 3 แถว จบด้วยลายกรวยเชิงเป็นรูปเกียรติมุข (หน้ากาล) คายเฟื่องอุบะ
"บัวรัดเกล้าเรือนธาตุ" ที่มา : https://af103882-a-62cb3a1a-s-sites. |
- ตอนกลางของเรือนธาตุ
มีลายปูนปั้นประดับเป็นลายก้านขดที่แถวบนสุด ถัดลงมาเป็นบัวฟันยักษ์คว่ำ หน้ากระดานเป็นลายกระจังประกอบกันเป็นลายกากบาทแทรกด้วยลายประจำยามลายเล็กและลายดอกซีกดอกซ้อน ถัดลงมาเป็นลายกลีบบัวหงาย ลายกระหนกวงโค้ง ลายดอกบัว ตอนล่างสุดเป็นลายกรวยเชิงตามลำดับ
"ตอนกลางของเรือนธาตุ" ที่มา : https://af103882-a-62cb3a1a-s-sites. |
- บัวเชิงเรือนธาตุ
ด้านบนสุดเป็นรูปใบหน้าของชาวจามที่เป็นศัตรูกับชาวเขมรที่ถูกประดิษฐ์เป็นใบหน้าของยักษ์ประกอบกับลายกรวยเชิง อันเป็นที่นิยมมากในศิลปะแบบบายนของกัมพูชา ถัดลงมาเป็นลายดอกบัว สันลูกแก้วอกไก่เป็นลายรักร้อย และบัวฟันยักษ์คว่ำ ลายก้านขด และดอกซีกดอกซ้อน ลายละหนึ่งแถวตามลำดับ
ในส่วนของลวดลายหน้าบันและทับหลังนั้นปัจจุบันไม่ปรากฏร่องรอยหลักฐานเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการปั้นปูนประดับลงบนศิลาแลงเมื่อเวลาผ่านไปรูอากาศของศิลาแลงจะมีการขยายตัวทำให้ลวยลายปูนที่ปั้นประดับอยู่นั้นกะเทาะออกมารวมถึงลิงที่มาอาศัยก็มีส่วนทำให้เกิดความเสียหาย
นอกจากนี้ในสมัยอยุธยาตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์และดัดแปลงพระปรางค์สามยอดเพื่อใช้เป็นพุทธศาสนสถานอีกครั้ง ดังจะเห็นได้จากการซ่อมแซมส่วนที่เป็นเพดาน โดยยังคงเห็นร่อยรอยของการปิดทองเป็นรูปดาวเพดาน และการสร้างฐานภายในพระปรางค์สามยอดหลายฐานลักษณะคล้ายกับฐานชุกชีด้วยอิฐ อันเป็นวัสดุที่แตกต่างไปจากส่วนอื่นๆ ของพระปรางค์สามยอดซึ่งส่วนใหญ่เป็นศิลาแลง
เรียกได้ว่าเป็นโบราณสถานสำคัญอีกแห่งหนึ่งของไทยที่นับว่ามีความสำคัญทั้งด้านศาสนาและการเมืองเป็นอย่างมาก แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองในสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี ถึงแม้จะเหลือเพียงซากปรักหักพัง แต่ก็นับว่าเป็นหลักฐานสำคัญที่หลงเหลือไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไปเอกสารอ้างอิง
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.(ม.ป.ป).พระปรางค์สามยอด. ค้นเมื่อ 2 มีนาคม 2561,จาก https://thai.tourismthailand.org/
ประวัติปรางค์สามยอด. ค้นเมื่อ 2 มีนาคม 2561,จาก https://sites.google.com/site/vishnulalita/home/cea-phx-sal
กระปุกดอทคอม.(11 กรกฎาคม 2554).เที่ยวลพบุรี ชมพระปรางค์สามยอด.ค้นเมื่อ 2 มีนาคม 2561,จาก https://travel.kapook.com/view28039.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น